เกร็ดความรู้ยา Ibuprofen มีผลต่อการเคลื่อนฟันในคนไข้จัดฟัน จริงหรือไม่?

การเคลื่อนฟันในการรักษาทางทันตกรรมรักษาจัดฟัน เป็นผลมาจากการให้แรงกระทำผ่านเครื่องมือจัดฟัน และแรงนั้นถูกส่งผ่านกระจายไปยังเซลล์ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื้อรอบรากฟัน เกิดการเปลี่ยนแปลงปริทันต์ และเกิดกระบวนการอักเสบ การละลายกระดูก และการสร้างกระดูก แรงจากเครื่องมือจัดฟันจะถูกส่งผ่านจากตัวฟันมายังเนื้อเยื่อรอบรากฟัน และจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบบริเวณเนื้อเยื้อรอบรากฟัน อาการปวดจึงเป็นอาการที่สามารถพบได้ระหว่างจัดฟัน การจ่ายยาระงับปวดเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการ


ผลการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองหลายๆชิ้นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดยพบว่ายาไอบูโพรเฟนส่งผลให้อัตราการเคลื่อนที่ของฟันทางทันตกรรมจัดฟันลดลง ทั้งนี้ การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองซึ่งขนาดของยาที่ใช้ในสัตว์ทดลองอาจไม่สัมพันธ์กับขนาดยาที่ใช้ในมนุษย์ และทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป เนื่องการศึกษาวิจัยในสัตว์ส่วนใหญ่สรุปได้ว่า ยาไอบูโพรเฟนยับยั้งการเคลื่อนฟันในทางทันตกรรมจัดฟัน จึงไม่อาจนำยาไอบูโพรเฟนไปวิจัยการเคลื่อนฟันต่อในมนุษย์ได้ การจ่ายยาแก้ปวดส่วนใหญ่แล้วจะให้ทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลของการเคลื่อนฟันกับการทานยาไอบูโพรเฟนในระยะที่ต่างกัน


โดยสรุปแล้ว การศึกษาในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองพบว่ายาไอบูโพรเฟนมีผลต่ออัตราการเคลื่อนที่ของฟันที่ได้รับแรงทางทันตกรรมจัดฟัน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการจ่ายยาไอบูโพรในกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ายาอะเซตามิโนเฟน หรือที่รู้จักกันในชื่อ พาราเซตามอล ไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนฟันทางทันตกรรมจัดฟัน จึงสามารถใช้เป็นยาทางเลือกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันได้ นับเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับทันตแพทย์ในปัจจุบัน

อ้างอิงจาก บทความปริทัศน์ โดย ชนกานต์ จินดาโรจนกุล วิทยาสารออนไลน์สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 2564