ข้อปฏิบัติและข้อควรทราบสำหรับการรักษาทันตกรรมจัดฟัน ความเสี่ยง ข้อจำกัด และผลที่อาจเกิดตามมาจากการจัดฟัน

ข้อปฏิบัติและข้อควรทราบสำหรับการรักษาทันตกรรมจัดฟัน


  1. 1. ทำความเข้าใจแผนการรักษาอย่างละเอียด รวมถึงผลดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดก่อนตัดสินใจรักษาทางทันตกรรม

  2. 2. เตรียมสภาพช่องปากก่อนการจัดฟัน โดยทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน รักษาโรคเหงือก ผ่าฝัดคุด รักษารากฟัน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่รวมอยู่ในค่ารักษาทางทันตกรรมจัดฟัน

  3. 3. หลังการติดเครื่องมือในช่องปาก ผู้ป่วยอาจมีการระคายเคืองที่บริเวณเนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากได้ ซึ่งป้องกันได้โดยใช้ขี้ผึ้งกดแปะไปบนเครื่องมือส่วนที่เกิดการระคายเคือง อาจเกิดแผลในช่องปากได้บ้างทั้งในช่วงแรกและระหว่างการรักษา

  4. 4. งดรับประทานอาหารแข็ง เหนียว งดใช้ฟันหน้ากัด ฉีก อาหาร ควรตัด หั่น อาหารเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใช้ฟันหลังในการเคี้ยวอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการหลุด หรือแตกของเครื่องมือ

  5. 5. รักษาความสะอาดภายในช่องปาก ทั้งในส่วนของฟัน ซอกฟัน เครื่องมือจัดฟัน โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้แปรงสีฟันให้ถูกวิธี และใช้แปรงสีฟันที่ออกแบบสำหรับการทำความสะอาดฟันที่ติดเครื่องมือจัดฟันโดยเฉพาะ นอกจากนี้ควรใช้ไหมขัดฟันร่วมกับที่ร้อยไหม และแปรงซอกฟันอย่างสม่ำเสมอ ควรได้รับการตรวจฟันทั่วไปและขูดหินปูนทุก 6 เดือน

  6. 6. ดูแลรักษาเครื่องมือจัดฟันให้อยู่ในสภาพดี เพื่อให้ฟันเคลื่อนไปตามแผน การทำเครื่องมือหลุด เสียหาย จะทำให้ฟันผลการรักษาไม่สมบูรณ์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อหลุดเป็นครั้งที่ 2 (bracket ตัวละ 300 บาท และ tube ตัวละ 500 บาท) เมื่อมีการหลุดของเครื่องมือ หรือรู้สึกว่าเครื่องมือหรือลวดทิ่ม ข่วน ทำอันตรายต่อเนื้อเยื้อในช่องปากควรแจ้งทันตแพทย์ทันที เพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้น หรือนัดฉุกเฉิน

  7. 7. มาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ฟันเคลื่อนที่ทุกเดือน หากมีธุระจำเป็นกรุณาแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หากขาดการติดต่อหรือผิดนัดเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป อาจพิจารณาหยุดให้การรักษาต่อ หรือเก็บค่ารักษาต่อเดือนเพิ่มเติมจนกว่าจะจัดฟันเสร็จ โดยอาจเกินกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ หากไม่สามารถมาพบทันตแพทย์ได้เป็นเวลานาน ต้องแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้ควบคุมแรงดึงฟันไม่ให้มากจนเป็นอันตรายต่อรากฟัน หากการจัดฟันเสร็จเร็วกว่ากำหนด จะต้องชำระค่างวดต่อเดือนเพิ่มขึ้นจนครบตามจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทันตแพทย์จัดฟันขอสงวนสิทธิ์ในการยุติการรักษาและถอดเครื่องมือจัดฟันเพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพฟันของผู้ป่วย

  8. 8. หลังปรับเครื่องมือจะรู้สึกเจ็บปวดหรือตึงที่บริเวณฟันประมาณ 2-3 วัน แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน ในกรณีที่ต้องการระงับความเจ็บปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์สั่งได้

  9. 9. กรณีที่ต้องใช้ยางเกี่ยวตัวฟัน หรือใช้เครื่องมือนอกช่องปากเพื่อเสริมการเคลื่อนฟัน จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีในการเกี่ยวยางที่ฟันซี่ต่างๆ หรือใส่เครื่องมือ ตามระยะเวลาที่เพียงพอต่อการเคลื่อนฟัน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

  10. 10. กรณีที่ขนาดและรูปร่างของฟันมีความผิดปกติหรือไม่สมดุลกัน อาจต้องใช้การบูรณะฟันเข้าช่วย เช่น การอุดเติมฟัน ทำครอบ สะพานฟัน ปักรากเทียม และการรักษาทางศัลยปริทันต์

  11. 11. กรณีที่การสบฟันผิดปกติและการรักษามีความซับซ้อนมาก อาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษอื่นๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังนี้

    • ปักหมุด (Mini-screw) ตัวละ 4,500 บาท
    • เครื่องมือทางทันตกรรมชนิดถอดได้ (Anterior/Posterior bite plane) ชิ้นละ 3,000 บาท
    • เครื่องมือทางทันตกรรมชนิดติดแน่น (TPA, Quad helix, RME) ชิ้นละ 3,500 บาท
    • เครื่องมือทางทันตกรรม (Active plate) ชิ้นละ 5,000 บาท
  12. 12. เวลาในการรักษาจัดฟัน และค่าใช้จ่าย เป็นการคาดคะเน ไม่อาจกำหนดระยะได้แน่นอน เพราะเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งนี้ การตอบสนองของฟันต่อแรงที่ใช้ในการจัดฟันของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน อาจมีค่าใช้จ่ายจริงที่น้อยหรือมากกว่าที่แจ้งไปบ้าง

  13. 13. ระมัดระวัง ขณะเล่นกีฬา หรือกิจกรรมอื่นๆที่มีความเสี่ยง ต่อการถูกกระแทก บริเวณขากรรไกรและใบหน้า

  14. 14. หลังจัดฟันเสร็จต้องใส่เครื่องมือคงสภาพ (Retainer) ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด หากรีเทนเนอร์แตกหักหรือเสียหาย ควรพบทันตแพทย์จัดฟันเพื่อซ่อมแซมหรือทำชิ้นใหม่ หากไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมออาจทำให้ฟันมีการเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง เกิดฟันซ้อนเก หรือฟันห่าง ส่งผลให้มีเศษอาหารติดเวลาเคี้ยวอาหารได้

ความเสี่ยง ข้อจำกัด และผลที่อาจเกิดตามมาจากการจัดฟัน


  • การเกิดโรคฟันผุ และจุดด่างขาวถาวรบนผิวฟัน จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล หรือกรดมากเกินไป และหรือไม่ทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ (ปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้รับการจัดฟัน แต่การจัดฟันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว)

  • ฟันโยก ขณะจัดฟัน ฟันจะถูกใช้แรงเพื่อความคุมให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจะมีโยกของฟันเกิดขึ้นมากกว่าปกติ

  • ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีความยาวของรากฟันลดลงในขณะจัดฟัน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากฟันได้รับแรงจากการเคลื่อนฟัน หรือผู้ป่วยเคยมีประวัติฟันถูกกระแทกมาก่อน และความรุนแรงในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดีความรุนแรงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญและไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหาร รากฟันที่สั้นลงไม่มีผลเสียใดๆในสภาวะที่ฟันแข็งแรงดี แต่หากเกิดโรคเหงือกอาจทำให้สูญเสียฟันซี่นั้นได้ง่าย แต่การละลายของรากฟันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุนอกเหนือจากการจัดฟัน

  • การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อประสาทฟัน ในบางกรณีสำหรับฟันซี่ที่เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน อาจมีรอยร้าวหรือ เคยมีฟันผุลึกมากๆ ที่เคยได้รับการอุด หรือเคยรักษารากฟันมาก่อน การเคลื่อนฟันอาจมีผลต่อประสาทฟัน ทำให้ฟันที่มีประวัติเหล่านี้เกิดอาการขึ้นภายหลัง และต้องทำการรักษาคลองรากฟัน

  • โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ สามารถเกิดขึ้นได้ หรือมีอาการรุนแรงขึ้นในระหว่างการจัดฟัน ซึ่งสาเหตุหลักมักจะมาจาก ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ดีพอ โดยเฉพาะกรณีที่มีรอยโรคเดิมอยู่แล้ว

  • ลักษณะของเหงือกที่ล้อมรอบรากฟันจะขึ้นอยู่กับกระดูกที่อยู่ข้างใต้ การจัดฟันที่ซ้อนเกให้เรียงตัวเรียบอาจทำให้เหงือกร่นได้ เนื่องจากกระดูกหุ้มรากฟันไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเนื้อเยื่อเหงือกร่วมด้วย

  • กรณีผู้ป่วยยังมีการเจริญเติบโตอยู่ ผลการรักษาจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หากการเจริญเติบโตนั้นปกติและโครงสร้างใบหน้าอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่หากมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของทันตแพทย์จัดฟัน อาจทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หากขากรรไกรเจริญเติบโตไม่สมดุลกัน หรือมีการขึ้นของฟันที่ช้าผิดปกติ อาจทำให้การสบฟันเปลี่ยนแปลงไป ต้องรับการรักษาเพิ่มเติม หรืออาจต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด

  • ระยะเวลาในการรักษาอาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ การมีโรคประจำตัวบางอย่างอาจมีผลต่อการเคลื่อนฟัน ยากลุ่ม Bisphosphonates เช่น Fosamax, Actonel และ Boniva ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน อาจทำให้ฟันเคลื่อนช้าลง

  • อาจเกิดปัญหาข้อต่อขากรรไกรได้ในระหว่างจัดฟัน เช่น มีเสียงคลิกขณะอ้าปากหรือหุบปาก ปวดข้อต่อขากรรไกร ปวดศีรษะ หรือภายในหู ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย รวมถึงความเครียดของผู้ป่วย ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้แม้จะไม่ได้จัดฟัน การแก้ไขการเรียงตัวของฟันอาจทำให้อาการดีขึ้นได้แต่ไม่ใช่ทุกราย

  • เครื่องมือจัดฟันอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก หรือการกระทบกระแทกต่อฟันได้บ้าง (เกิดขึ้นน้อยมาก) การสึกของฟันที่ผิดปกติอาจเกิดได้หากมีการบดเคี้ยวที่รุนแรงกว่าปกติ

  • ปัญหาวัสดุอุดฟันหลุด การกลืนเครื่องมือ การแพ้ยางลาแท็กซ์ในถุงมือ และแพ้นิกเกิลในเครื่องมือจัดฟัน พบได้น้อยแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

  • การผิดนัด ขาดความร่วมมือ ไม่ใส่เครื่องมือหรือเกี่ยวยางตามแผนการรักษา ทำเครื่องมือแตกหักและหลุดบ่อยครั้ง รวมถึงปัญหาด้านค่าใช้จ่าย อาจทำให้ต้องยุติการรักษา

  • บางกรณีไม่สามารถให้การรักษาที่สมบูรณ์แบบได้ เนื่องจากขาดความสมดุลของกล้ามเนื้อใบหน้า รูปร่างและขนาดของกระดูกขากรรไกรและฟัน

  • หลังจากจัดฟันเสร็จ ฟันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนกลับสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการรักษา ฟันที่ซ้อนเก บิดหมุนมาก ก็จะมีโอกาสเกิดการคืนกลับมาก โดยเฉพาะบริเวณฟันหน้าล่าง ฟันสามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขึ้นของฟันคุด การเจริญเติบโต การหายใจทางปาก การเล่นเครื่องดนตรีบางชนิด และนิสัยผิดปกติบางอย่างในช่องปาก หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันออกแล้ว จะต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟันเพื่อป้องกันการคืนกลับของฟันตามที่ทันตแพทย์จัดฟันแนะนำ