เกร็ดความรู้การจัดฟันกับความเสี่ยงที่รากฟันจะละลาย

การละลายของรากฟันเป็นภาวะเสี่ยงที่ไม่พึ่งประสงค์ซึ่งพบได้ในการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน


การละลายของรากฟันที่เกิดจากการรักษาจัดฟัน แบ่งตามระดับความรุนแรง ได้ดังนี้


  1. 1. การละลายของผิวเคลือบฟันชั้นนอก สามารถเกิดการซ่อมแซมส่วนของรากฟันที่เสียหายได้อย่างสมบูรณ์
  2. 2. การละลายถึงชั้นเนื้อฟัน สามารถเกิดกระบวนการซ่อมแซมโดยสร้างเคลือบรากฟันทดแทนส่วนเนื้อฟันที่เสียหาย แต่ไม่สามารถสร้างกลับมาใหม่ได้ ทำให้ได้รูปร่างของรากฟันไม่เหมือนเดิม
  3. 3. การละลายรอบบริเวณปลายราก ทำให้รากฟันสั้นแบบไม่สามารถคืนกลับได้

ปัจจัยที่มีผลต่อการละลายของรากฟันจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน แบ่งออกเป็น


  1. 1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ป่วย ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่นภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นภาวะที่มีการหมุนเวียนของกระดูกต่ำและพบการละลายของรากฟันได้สูง ลักษณะและรูปร่างของรากฟัน ฟันที่มีรูปร่างฟันสามเหลี่ยมแหลม รากฟันโค้งงอ จะเสี่ยงต่อการละลายรากฟันได้มากรวมไปถึงฟันที่มีประวัติในการเกิดรากฟันละลาย ฟันที่เคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน
  2. 2. ปัจจัยจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ได้แก่ ขนาดของแรง ประเภทของแรง โดยแรงแบบต่อเนื่องทำให้เกิดการละลายรากฟันมากกว่าแรงแบบขัดจังหวะ ปริมาณการเคลื่อนฟัน โดยฟันที่ถูกเคลื่อนในปริมาณมากจะพบการละลายรากฟันได้มาก ประเภทของการเคลื่อนฟัน โดยการเคลื่อนแบบดันเข้าและทอร์กรากฟันไปทางด้านลิ้น จะเพิ่มโอกาสการละลายของรากฟัน ระยะเวลาการรักษา ยิ่งยาวนานยิ่งเสี่ยงมาก และการวางแผนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน พบว่า การจัดฟันร่วมกับการถอนฟันทำให้เกิดการละลายของรากฟันมากกว่าแบบไม่ถอนฟัน

แม้ว่าจากการศึกษาที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์การละลายของรากฟันจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันในระดับรุนแรงเพียง 1-5% แต่หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ป่วยย่อมส่งผลต่อการใช้งานในระยะยาวได้ ในรายที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจรู้สึกฟันโยก หากผู้ป่วยมีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพหรืออายุที่มากขึ้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงภาวะที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้


การศึกษาที่ผ่านมาได้พยายามหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการทำให้เกิดการละลายของรากฟันจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน พบว่าภาวะรากฟันละลายมีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาควรประเมินปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนให้การรักษาจัดฟัน โดยการซักประวัติ การตรวจทางคลินิก และการถ่ายภาพรังสี เพื่อประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ เช่น พันธุกรรม โรคทางระบบ ประวัติการได้รับอุบัติเหตุ ฟันที่รักษารากฟันมาก่อน หรือลักษณะของรากฟันที่เสี่ยงต่อการละลายระหว่างจัดฟัน ทันตแพทย์ควรแจ้งถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการจัดฟันให้ผู้ป่วยรับทราบ ส่งถ่ายภาพรังสีเพื่อประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ จากการทบทวนวรรณกรรมได้แนะนำให้ถ่ายภาพรังสีในช่วง 6-12 เดือน ภายหลังเริ่มให้แรงเพื่อประเมินได้ทันท่วงที การหยุดให้แรง 2-3 เดือน ภายหลังพบการละลายของรากฟันจะสามารถลดกระบวนการละลายของรากฟันได้ หากพบการละลายของรากฟันในระดับรุนแรงอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ทันตแพทย์พึงระมัดระวังการให้แรงที่มากเกินไป ควรใช้แรงแบบขัดจังหวะ เคลื่อนฟันในปริมาณน้อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จและปลอดภัยต่อผู้ป่วย


โดยสรุปแล้ว การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการละลายของรากฟันได้ การทราบถึงกลไก ปัจจัยที่มีผลต่อการละลายของรากฟัน ช่วยให้ทันตแพทย์จัดฟันตระหนักในการวางแผนการรักษามากขึ้น


อ้างอิงจาก บทความปริทัศน์ โดย พนิตนาฎ คงกระพันธ์ และสุปาณี สุนทรโลหะนะกูล วิทยาสารออนไลน์สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 2564